ความเป็นมาและโครงสร้างการบริหารงาน

ความเป็นมา

ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นหน่วยงานสนับสนุนและให้บริการ ทางวิชาการมีฐานะเทียบเท่าสำนักวิชา จัดตั้งขึ้น อย่างเป็นทางการตามข้อกำหนดมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เรื่อง การจัดตั้งส่วนงาน พ.ศ. 2542 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2542

ระยะแรก

ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา ได้เปิดให้บริการเป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 2542 พร้อมกับการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2542 ซึ่งเป็นปีการศึกษาแรก โดยใช้อาคารส่วนหนึ่งของโรงเรียนเทศบาล 6 สลากกินแบ่งรัฐบาล อ.เมือง จ.เชียงราย เป็นที่ทำการชั่วคราว  มีทรัพยากรสารสนเทศสำหรับให้บริการประมาณ 3,000 เล่ม มีที่นั่งอ่านสำหรับผู้ใช้บริการ จำนวน 30 ที่นั่ง และมีบุคลากร จำนวน 3 คน

ระยะที่ 2

ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาได้ย้ายมายังอาคารชั้นเดียวในกลุ่มอาคารส่วนหน้าในเดือนตุลาคม 2542 ในเขตพื้นที่ตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง  มีทรัพยากร สารสนเทศสำหรับให้บริการประมาณ 6,500 เล่ม จำนวน 80 ที่นั่ง และมีบุคลากร จำนวน 11 คน

ปัจจุบัน

ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา ได้ย้ายมายังที่ทำการถาวร คืออาคารศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา ในวันที่ 19 เดือนเมษายน 2546 ซึ่งเป็นอาคารสูง  5 ชั้น มีพื้นที่รวม 11,484 ตารางเมตร มีทรัพยากรสารสนเทศประมาณ 160,000 เล่ม และเพิ่ิมจำนวนมากขึ้นตามลำดับ โดยมีที่นั่งอ่าน ประมาณ 1,000 ที่นั่งมีบุคลากร จำนวน 32 คน

ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา ได้รับการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าและเติบโตขึ้นเป็นลำดับ มีจำนวนและประเภททรัพยากรสารสนเทศที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น ในปีงบประมาณ พ.ศ.2545 ได้จัดหาระบบห้องสมุดอัตโนมัติ VTLS  และในวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2561 ได้เปลี่ยนมาใช้ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ Koha (Matrix) ในการบริหารจัดการและให้บริการทรัพยากรสารสนเทศภายใน ศูนย์บรรณสารฯ

เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและได้มีการริเริ่มการให้บริการที่หลากหลายประเภทเพิ่มขึ้น ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการสนองตอบต่อความต้องการของประชาคมมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและชุมชนท้องถิ่น

วิสัยทัศน์

“แหล่งเรียนรู้ทางวิชาการที่ทันสมัย เพื่อสนับสนุนมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ให้เป็oมหาวิทยาลัยชั้นนำที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ มุ่งมั่นพัฒนาเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและอนาคตที่ยั่งยืน”

ค่านิยม (Core Value)

F มาจากคำว่า Flexibility พร้อมปรับเปลี่ยน และรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์พลิกผัน ของโลกยุคปัจจุบัน
I มาจากคำว่า Integrity ยึดมั่นความถูกต้อง ดําเนินงานตามเจตจํานงการบริหารงาน ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
R มาจากคำว่า Resourcefulness สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการให้บริการและการบริหารจัดการองค์กร
S มาจากคำว่า Spirit - Service Mind and Save the Environment ทุ่มเท เสียสละ เพื่อประโยชน์ขององค์กร มีจิตบริการ ทำงานด้วยใจ และใส่ใจในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม
T มาจากคำว่า Teamwork มีความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจ

SMART LIBRARY
  • Services             การให้บริการที่เป็นเลิศ
  • Management      การบริหารจัดการที่ทันสมัย
  • Adaptability        การเรียนรู้และปรับตัว
  • Resources          การมีทรัพยากรที่ทันสมัย หลากหลาย
  • Teamwork          การมีความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจ
พันธกิจ
  1. จัดหาทรัพยากรสารสนเทศที่มีคุณภาพ ทันสมัย
  2. วิเคราะห์ จัดระบบทรัพยากรสารสนเทศอย่างมีมาตรฐาน
  3. บริการและเผยแพร่ทรัพยากรสารสนเทศ และองค์ความรู้ต่าง ๆ ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม
  4. สร้างเสริมบรรยากาศที่เอื้อต่อการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ
  5. ส่งเสริมให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้และการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์
  6. ทำหน้าที่เป็นหอจดหมายเหตุและหอประวัติของมหาวิทยาลัย
  7. ถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาชีพห้องสมุดแก่ชุมชน
ภาระหน้าที่

ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา เป็นหน่วยงานบริการทางวิชาการที่สนับสนุน ความเป็นเลิศ ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ทั้งในด้านการจัดการเรียน การสอน การวิจัย การบริการวิชาการแก่สังคม ตลอดจนการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยมุ่งพัฒนาให้เป็นห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ที่ระบบการบริหารจัดการ และการบริการ ที่มีประสิทธิภาพ และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้วยตนเอง ด้วยการดำเนิน การแสวงหา วิเคราะห์ การจัดระบบ และการบำรุงรักษา ให้บริการ ทรัพยากรสารสนเทศทุกรูปแบบ  และเป็นแหล่งรวบรวมบริการสืบค้น เอกสารจดหมายเหตุของมหาวิทยาลัย

โครงสร้าง
organisation2

ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา แบ่งฝ่ายงานภายในออกเป็น 4 ฝ่าย ดังนี้

  1. ฝ่ายเลขานุการและธุรการ
  2. ฝ่ายพัฒนาและจัดระบบทรัพยากรสารนิเทศ
  3. ฝ่ายบริการทรัพยากรสารนิเทศ
  4. ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ

โดยทั้งหมดอยู่ในความรับผิดชอบของผู้อำนวยการ ภายใต้การกำกับดูแลของรองอธิการบดีและมีอธิการบดีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด โดยมีคณะกรรมการประจำและจัดระบบบริหารงานภายในศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา เพื่อให้คำแนะนำและแนวทางในการพัฒนาศูนย์บรรณสารฯ

ภาระหน้าที่หน่วยงานภายใน ทั้ง 4 ฝ่าย มีดังนี้
1. ฝ่ายเลขานุการและธุรการ

เป็นสำนักงานบริหารกลางของศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาสนับสนุนการปฏิบัติงานภารกิจหลัก ให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรับผิดชอบในการติดต่อประสานงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยให้เป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว โดยแบ่งภาระหน้าที่เป็น 6 งานย่อย ดังนี้

  • งานธุรการ
  • งานงบประมาณและแผนงาน
  • งานการเงินและบัญชี
  • งานพัสดุและครุภัณฑ์
  • งานบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายใน
  • งานประกันคุณภาพการศึกษาและการรับรองมาตรฐาน
2. ฝ่ายพัฒนาและจัดระบบทรัพยากรสารนิเทศ

รับผิดชอบในการแสวงหา คัดเลือก จัดหา และวิเคราะห์เนื้อหา จัดระบบทรัพยากรสารสนเทศ ได้แก่ หนังสือ ตำรา เอกสาร สื่อสิ่งพิมพ์อื่น ๆ และสื่อโสตทัศนศึกษา ฐานข้อมูล และสื่อทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ ให้สอดคล้องกับแผนการจัดการเรียนการสอน และการวิจัยของมหาวิทยาลัย จัดทำเครื่องมือช่วยค้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ในการสืบค้นหาสารสนเทศ ตลอดจนดูแลในการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และบำรุงรักษาทรัพยากรสารสนเทศให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อยู่เสมอ แบ่งภาระหน้าที่เป็น 5 งานย่อย ดังนี้

  • งานจัดหาทรัพยากรสารสนเทศ
  • งานวิเคราะห์และจัดระบบทรัพยากรสารสนเทศ
  • งานจัดทำรายการสืบค้นทรัพยากรสารสนเทศ
  • งานอนุรักษ์ทรัพยากรสารสนเทศ
  • งานจดหมายเหตุ
3. ฝ่ายบริการทรัพยากรสารนิเทศ

รับผิดชอบในการให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ห้องสมุด ให้สามารถเข้าถึงสารสนเทศประเภทต่าง ๆ ได้ตามความต้องการอย่างถูกต้อง รวดเร็ว รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรสารสนเทศอย่างคุ้มค่า ให้ผู้ใช้ห้องสมุดมีความพึงพอใจในการใช้บริการ และประเมินคุณภาพของการให้บริการ ด้วยวิธีการต่าง ๆ แบ่งภาระหน้าที่เป็น 7 งานย่อย ดังนี้

  • งานบริการทรัพยากรสารสนเทศและสื่อการศึกษา
  • งานวารสารและเอกสาร
  • งานตอบคำถามช่วยการค้นคว้าและวิจัย
  • งานฝึกอบรมและส่งเสริมการรู้สารสนเทศ
  • งานบริการห้องค้นคว้ากลุ่ม ห้องมัลติมีเดีย และพื้นที่การเรียนรู้
  • งานสื่อสารและประชาสัมพันธ์
  • งานข้อมูลท้องถิ่น
4. ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ

ทำหน้าที่ดูแลระบบห้องสมุดอัตโนมัติและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศการให้บริการห้องสมุดในรูปแบบต่าง ๆ ให้ทันสมัย และประสานความร่วมมือการดูแลรักษาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศกับหน่วยงานกลาง ตลอดจนการบำรุงรักษาการทำงานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศภายในหน่วยงาน

  • งานพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและฐานข้อมูล
  • งานพัฒนาและดูแลระบบห้องสมุดอัตโนมัติ
  • งานพัฒนาระบบออนไลน์