หมวดที่ 3
การจัดการทรัพยากรและพลังงาน
เกณฑ์การดำเนินงาน
ห้องสมุดมีการกําหนดมาตรการในการใช้ทรัพยากรและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ผลการดำเนินงาน
1. มีแผนงานและมาตรการประหยัดไฟฟ้า น้ำ และทรัพยากร
การดำเนินงาน ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาตระหนักและให้ความสำคัญกับการประหยัดไฟฟ้า น้ำ และทรัพยากร โดยจัดทำแผนงานและมาตรการในการประหยัดไฟฟ้า น้ำ และทรัพยากร โดยเน้นให้บุคลากรและนักศึกษามีส่วนร่วมในการช่วยประหยัดไฟฟ้า น้ำ และทรัพยากร อาทิ การเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าจากหลอด T5 เป็นหลอดแบบ LED เพื่อประหยัดพลังงานไฟฟ้าและประสิทธิภาพแสงสว่างที่ดีกว่า การติดสายไฟกระตุกในพื้นที่สำนักงาน และพื้นที่ให้บริการบางจุดการติดสัญลักษณ์แถบสติ๊กเกอร์เพื่อให้สามารถปิดไฟบางดวงได้ เมื่อไม่มีผู้ใช้บริการอยู่หรือขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในแต่ละช่วงวัน การให้ความรู้แก่แม่บ้าน รปภ. ให้เปิด-ปิด ไฟตามสัญลักษณ์ในพื้นที่ การจัดทำป้ายขอความร่วมมือจากผู้ใช้บริการให้ปิดไฟดวงที่ไม่ได้ใช้งาน เป็นต้น
ในด้านการใช้น้ำ ด้วยศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาเป็นอาคารเดิมที่สร้างในระยะแรกของมหาวิทยาลัย ดังนั้นอุปกรณ์สุขภัณฑ์บางส่วน อาทิ ก๊อกน้ำ ยังเป็นแบบเดิม (ปุ่มกด PUSH) ซึ่งมีระดับแรงดันน้ำออกมามาก ทำให้เกิดการสูญเสียน้ำมากกว่าหัวก๊อกแบบปัจจุบัน ในปีพ.ศ. 2562-2563 ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาจึงมีแผนเสนอมหาวิทยาลัยปรับหัวก๊อกแบบเดิม ให้เป็นหัวก๊อกแบบประหยัดน้ำ ทั้งนี้ในส่วนของหัวก๊อกแบบเดิมที่ยังคงต้องใช้งานอยู่ ได้ประสานส่วนอาคารสถานที่ให้ปรับแรงดันน้ำให้มีความพอดี เพื่อไม่ให้เป็นการสูญเสียน้ำมากเกินไป และได้จัดทำป้ายรณรงค์ติดในห้องน้ำในแต่ละชั้น เพื่อให้ผู้ใช้บริการห้องสมุดตระหนักถึงคุณค่าของน้ำและช่วยกันประหยัดน้ำได้มากยิ่งขึ้น
ในด้านการใช้ทรัพยากรต่างๆ อาทิ การใช้อุปกรณ์สำนักงาน การใช้กระดาษ ได้ใช้กิจกรรม 5 ส เป็นส่วนส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด อาทิ การใช้อุปกรณ์สำนักงานบางประเภทร่วมกัน เช่น เครื่องพิมพ์ (Printer) กบเหลาดินสอ เครื่องเจาะกระดาษ แผ่นรองตัด ฯลฯ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด นอกจากนั้นได้รณรงค์ให้บุคลากรลดการใช้กระดาษ โดยใช้ระบบสารบรรณออนไลน์เปิดอ่านหนังสือเวียนและคำสั่งต่างๆ แทนการเวียนเอกสารแบบเดิม และใช้สื่อ Social Media ต่างๆ ในการแจ้งข่าวสารประชาสัมพันธ์ให้บุคลากร นักศึกษา และผู้ใช้บริการ แทนการแจ้งโดยการใช้เอกสาร และรณรงค์ให้ใช้กระดาษ Reuse เมื่อต้องการพิมพ์ข้อมูลที่ไม่ได้ส่งออกระหว่างหน่วยงาน และมีการตั้งค่าเครื่องถ่ายเอกสารให้เป็นแบบโหมดประหยัดหมึก อีกทั้งมีการอบรมการใช้โปรแกรม ASANA เพื่อใช้ในการทำงานเป็นทีม ตลอดจนติดตามการมอบหมายงานในแต่ละด้านของหัวหน้างานได้ทางระบบออนไลน์
2. มีแผนงานและมาตรการลดปริมาณของเสีย
การดำเนินงาน ในด้านการลดปริมาณของเสีย ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาให้ความสำคัญกับขยะ ซึ่งเป็นของเสียที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น ในส่วนของการดำเนินการ ได้มีการจัดหาถังขยะ โดยจำแนกเป็นถังขยะประเภททั่วไป และประเภทรีไซเคิล ซึ่งในบางจุดได้เพิ่มเป็นถังขยะประเภทอันตราย ในส่วนของพื้นที่รับประทานอาหารมีการจำแนกถังขยะชีวภาพ เพื่อนำเศษอาหาร ผัก ส่งต่อไปยังถังขยะชีวภาพ ที่อยู่บริเวณโรงอาหาร อาคาร D1 ใกล้ๆ กับอาคารศูนย์บรรณสารฯ เพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์ต่อไป ทั้งนี้ในส่วนของการแยกขยะประเภทรีไซเคิลจะมีแม่บ้านคัดแยกและนำไปทิ้งที่จุดส่วนกลาง ทั้งนี้เพื่อเป็นการดูปริมาณขยะประเภทรีไซเคิลที่อยู่ในอาคารศูนย์บรรณสารฯ ได้ให้แม่บ้านชั่งน้ำหนัก (กิโลกรัม) และลงบันทึกข้อมูลไว้ โดยมีส่วนอาคารสถานที่มารับ เพื่อจำหน่ายเป็นรายได้ของมหาวิทยาลัยต่อไป
ในส่วนของพื้นที่สำนักงาน จุดทานอาหารของพนักงานจะมีตะแกรงกรองเศษอาหารที่ชำระล้างและมีการติดตั้งถังดักจับไขมันไว้ เนื่องจากอาจทำให้ท่อระบายน้ำอุดตันและเกิดน้ำเน่าเสีย โดยจะมีแม่บ้านช้อนเอาไขมันที่ลอยขึ้นมาจากถังดักจับไขมันใส่ถุงดำและนำไปทิ้งในจุดพักใกล้กับจุดขยะโรงอาหาร D1 ในส่วนของพนักงานศูนย์บรรณสารฯ ได้มีการรณรงค์ให้พนักงานนำภาชนะอาหาร (ส่วนตัว) มาใช้แทนการใช้กล่องโฟม มีการให้รางวัลพนักงานดีเด่นในการลดโลกร้อน สำหรับนักศึกษาทางศูนย์บรรณสารฯ ได้มีการรณรงค์ให้นักศึกษานำแก้วส่วนตัวมาใช้ในการทานอาหารว่างที่ห้องสมุดจัด และหากนำแก้วส่วนตัวมาใช้ในการทานอาหารว่างและโพสลงใน MFU Library Facebook พร้อมแคปชั่นลดโลกร้อน นักศึกษาสามารถใช้เป็นคะแนนสะสมแต้ม เพื่อแลกรับสิทธิ์การยืมและสิทธิ์การใช้ห้องค้นคว้าได้นาน 2 เท่า ทั้งนี้ ในส่วนของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเอง ก็มีกิจกรรม MFU ECOLIFE เป็นการรณรงค์ให้นักศึกษาใช้ถุงผ้า นำแก้วส่วนตัวมาใช้ พร้อมรับส่วนลดจากร้านค้าต่างๆ ในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังมีโครงการ ECOLIFE ของคุณท๊อปและคุณนุ่น ดารานักแสดง ได้นำ Application เกี่ยวกับกิจกรรมและการสะสมคะแนนใน Application ECOLIFE เพื่อให้นักศึกษาเป็นส่วนหนึ่งในการลดโลกร้อนอีกด้วย
นอกจากนี้ในส่วนของกิจกรรมต่างๆ อาทิ ศูนย์บรรณสารฯ เป็นศูนย์กลางในการนำของเหลือใช้มาส่งต่อให้มูลนิธิหรือองค์กรสาธารณกุศล เช่น รับมอบปฎิทินแบบตั้งโต๊ะ รับมอบกระดาษใช้แล้ว เพื่อส่งต่อไปยังโรงเรียนสอนคนตาบอด หรือรับมอบห่วงฝาอลูมิเนียมส่งต่อให้มูลนิธิขาเทียมที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น
3. มีข้อกำหนดและเงื่อนไขการว่าจ้าง (Term of Reference : TOR) เพื่อควบคุมหน่วยงานภายนอกที่เข้ามาใช้พื้นที่ภายในห้องสมุดให้ปฎิบัติตามข้อกำหนดการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม
การดำเนินงาน การควบคุมหน่วยงานที่ให้บริการในศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมนั้น ในด้านการทำความสะอาดของพนักงานรักษาความสะอาด ซึ่งเป็นพนักงานจากบริษัทข้างนอก ( Outsource) ที่มหาวิทยาลัยจ้างมานั้น จะมีส่วนอาคารสถานที่ของมหาวิทยาลัยเป็นผู้กำหนดใน TOR ว่าบริษัทต้องจัดหาครุภัณฑ์ วัสดุ สำนักงาน เครื่องมือเครื่องใช้ อุปกรณ์และน้ำยาทำความสะอาดไม่เสื่อมคุณภาพ ผ่านการรับรองขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย และได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม และมีฉลากสิ่งแวดล้อมกำกับ โดยจะให้พนักงานของศูนย์บรรณสารฯ ร่วมเป็นกรรมการตรวจรับการจ้างในเงื่อนไขตาม TOR
4. มีเอกสารการสื่อสารประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้ผู้รับบริการและบุคลากรห้องสมุด ประหยัดไฟฟ้า ประหยัดทรัพยากร ตามแผนงานที่กำหนด
การดำเนินงาน ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาได้มีการสื่อสารและรณรงค์ให้พนักงาน และผู้ใช้บริการมีส่วนร่วมในการประหยัดไฟฟ้า และประหยัดทรัพยากร ดังจะเห็นได้จากการจัดทำป้ายข้อความรณรงค์ติดตามบริเวณต่างๆ อาทิ การใช้บันไดแทนการใช้ลิฟท์ การช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด การปิดไฟดวงที่ไม่ได้ใช้งาน การเปิดแอร์ 25-26 องศา การส่งต่อของเหลือใช้ให้ผู้อื่น เช่น กิจกรรม “อ่านวนไป” หรือ “ถุงผ้าเก่า..เราขอนะ” และการให้ผู้ใช้บริการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ในส่วนของสำนักงานได้ใช้กิจกรรม 5ส ในการขับเคลื่อน เช่น กำหนดให้การประหยัดพลังงานและทรัพยากร เป็นเกณฑ์ที่กำหนดในการตรวจประเมิน 5 ส ของแต่ละฝ่ายงาน
5. มีเอกสารการจัดซื้อ/จัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (อ้างอิงจากรายการสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) เพื่อใช้ในกิจกรรมการให้บริการของห้องสมุด รวมทั้งการประชุมและจัดนิทรรศการ
การดำเนินงาน ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาได้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการลดโลกร้อน โดยการจัดซื้อและจัดจ้างสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้ในการปฎิบัติงานและกิจกรรมต่างๆ อาทิ การใช้กระดาษพิมพ์เอกสารที่มียี่ห้อหรือฉลากเกี่ยวกับการลดโลกร้อน การขอสนับสนุนเก้าอี้กระดาษจากบริษัท SCG เพื่อนำมาใช้จัดกิจกรรมต่างๆ การรับบริการจากร้านเครื่องเช่า Printer และเครื่องถ่ายเอกสารที่มีสัญลักษณ์ของการลดการใช้พลังงาน และครุภัณฑ์สำนักงานที่มีสัญลักษณ์ของการประหยัดพลังงาน เป็นต้น
6. มีแผนการบำรุงรักษาระบบต่างๆ ที่มีในห้องสมุดและมีเอกสารแสดงการกำกับติดตามให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
การดำเนินงาน ในด้านการบำรุงรักษาระบบต่างๆ ที่มีในห้องสมุด ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาได้จัดทำแผนการบำรุงรักษาระบบต่างๆ ที่มีในห้องสมุด และมีการติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง อาทิ ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ระบบเครื่องปรับอากาศ เครื่องคอมพิวเตอร์ในสำนักงาน และเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับบริการ การทำความสะอาดกระจกรอบอาคาร อุปกรณ์ระบบป้องกันอัคคีภัย ทั้งนี้ได้มีการติดตามการดำเนินงานจากผู้ที่เกี่ยวข้อง
7. มีเอกสารการบันทึกข้อมูลปริมาณการใช้ไฟฟ้า กระดาษ และทรัพยากรอื่นๆ มีการรายงานผลและการเปรียบเทียบข้อมูลย้อนหลังเพื่อดูพัฒนาการ
การดำเนินงาน ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาเริ่มมีการบันทึกข้อมูลการใช้ไฟฟ้าตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 เนื่องจากมีการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าแยกส่วน ตามชั้น (ชั้น 2-5 เนื่องจากชั้น 1 เป็นที่จอดรถ) ทั้งนี้ในระยะ 3 เดือนที่มีการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าแบบแยก พบว่าศูนย์บรรณสารฯ มีค่าไฟฟ้าเดือนกันยายน เป็นเงิน 46,377.86 บ. สูงกว่า เดือนสิงหาคม เป็นเงิน 8,143.76 บ. และสูงกว่าเดือนกรกฎาคม เป็นเงิน 15,208.59 บ. ทั้งนี้เนื่องจากเดือนสิงหาคม ห้องสมุดเปิดเทอมให้บริการเป็นเวลาปกติถึง 19.30 น.
ในส่วนของการใช้กระดาษสำนักงาน พบว่า ในปีงบประมาณ 2561 ศูนย์บรรณสารฯ มีการใช้กระดาษทั้งหมด 155 รีม โดยในเดือนกันยายนมีการใช้สูงที่สุด 26 รีม รองลงมาเป็นเดือนสิงหาคม จำนวน 23 รีม อันเนื่องมาจากสองเดือนนี้ ศูนย์บรรณสารฯ ต้องจัดพิมพ์เอกสารสูจิบัตรงานสถาปนามหาวิทยาลัยครบรอบ 20 ปี จัดทำรายงานประจำปี และคำรับรองการปฏิบัติงานและรายงานการประเมินตนเอง (SAR) ทั้งนี้ฝ่ายเลขานุการและธุรการมีการใช้กระดาษมากที่สุด จำนวน 69 รีม รองลงมาเป็นฝ่ายพัฒนาทรัพยากรสารนิเทศ จำนวน 42 รีม
8. มีแผนการจัดส่งเอกสาร และการเดินทาง เพื่อลดเวลา และลดต้นทุนการส่งเอกสารหรือการเดินทางมาประชุม
การดำเนินงาน ในด้านการจัดส่งเอกสารระหว่างหน่วยงานนั้น เพื่อเป็นการลดการเดินทาง ลดเวลา ลดต้นทุนเอกสาร ศูนย์บรรณสารฯ ได้จัดทำแผนการจัดส่งเอกสาร และการเดินทาง โดยฝ่ายเลขานุการและธุรการ ได้มีการแจ้งไปยังทุกฝ่ายงานลดรอบการเดินเอกสารระหว่างหน่วยงาน จากเดิมวันละ 2 รอบ เป็นวันละ 1 รอบ และใช้ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ระบบสารบรรณออนไลน์แทนการเวียนเอกสาร คำสั่ง ประกาศ ฯลฯ และใช้สื่อ Social Network เช่น ไลน์ หรือ Facebook กลุ่ม ในการแจ้งข่าว กิจกรรมต่างๆ และใช้ประโยชน์การแชร์เอกสารจาก Google Drive นอกจากนี้ยังมอบให้ฝ่ายบริการแจ้งข่าวสาร ประชาสัมพันธ์กิจกรรมห้องสมุด โดยใช้ Wall Paper เครื่องสืบค้น OPAC ให้เป็นประโยชน์ แทนการติดประกาศโดยใช้กระดาษ
9. มีแผนงานและรายงานผลการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอน
การดำเนินงาน ในส่วนของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และกิจกรรมชดเชยคาร์บอน ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา ได้จัดทำแผนงานเกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจก และการทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอนไว้ ทั้งนี้ในปี 2561 ได้เชิญวิทยากรจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ คุณเพชรประกายแก้ว ดวงหฤทัยทิพย์ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องกิจกรรมการชดเชยคาร์บอนระดับบุคคลและสถาบัน โดยมีการแนะนำ Application (Carbon Footprint Calculator) เพื่อใช้คำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละคน ซึ่งจะขยายผลไปในระดับองค์กรต่อ เพื่อเป็นแนวทางในการชดเชยคาร์บอนต่อไป ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2563 ศูนย์บรรณสารฯ มีแผนการจัดกิจกรรมเพื่อชดเชยคาร์บอน และเข้าร่วมโครงการ Care de bear ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย