การดำเนินงานในหมวดที่ 2

หมวดที่ 2 โครงสร้างพื้นฐานทางด้านกายภาพ
และเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

building

เกณฑ์การดำเนินงาน

     ห้องสมุดต้องมีโครงสร้างพื้นฐานหรือลักษณะกายภาพที่เอื้อต่อการลดการใช้พลังงานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
โดยใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการให้บริการและการบริหารจัดการห้องสมุด
     กรณีเป็นอาคารเก่า ต้องมีแผนงานและมาตรการในการปรับปรุงโครงสร้างสถาปัตยกรรมหรือวัสดุประกอบอาคารให้เอื้อต่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม

ผลการดำเนินงาน

     มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดีของปวงชนชาวไทยที่มีต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และให้สถาบันแห่งนี้เป็นแหล่งที่จะสืบสานพระราชปณิธาน “ปลูกป่า สร้างคน” มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีความมุ่งมั่นจะเป็นสถาบันหลักของชาติในการพัฒนาองค์ความรู้ พัฒนาคน ให้มีศักยภาพในการแข่งขัน และสร้างสรรค์สังคมให้เป็นสุข ในขณะเดียวกันก็มุ่งเน้นให้นักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ ที่เป็นการส่งเสริมและปลูกฝังให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และในส่วนของการดำเนินการทางด้านกายภาพของมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกสถานที่ตั้ง การออกแบบผังแม่บท ไม่เพียงแต่มหาวิทยาลัยจะให้ความสำคัญกับการรักษาสภาพแวดล้อมและภูมิประเทศ ภายใต้แนวคิด “University in the Park” โดยการสร้างมหาวิทยาลัยให้อยู่ในวงล้อมหรืออ้อมกอดของขุนเขาและพรรณไม้ เพื่อให้เป็นลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นของมหาวิทยาลัยแล้ว การออกแบบตัวอาคารทั้งหมดได้ออกแบบโดยเน้นประโยชน์การใช้งานและความผสมกลมกลืนกับภูมิประเทศ มีการกำหนดให้ใช้สีและรูปแบบการทาสีอาคารให้เหมือนกันทั้งมหาวิทยาลัย  (ความตอนหนึ่งในหนังสือ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง : จากก้าวที่ 1 ถึงปีที่ 10  บนเส้นทางแห่งความเป็นเมืองมหาวิทยาลัย)

     ในส่วนของอาคารศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา (ห้องสมุด) เป็นอาคาร 5 ชั้น เปิดให้บริการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา ทั้งนี้ในส่วนของการให้บริการเริ่มจากชั้น 3 เป็นต้นไป การให้บริการแก่ผู้ใช้ทั้ง 3 ชั้น จะไม่มีลิฟท์ จะมีเพียงลิฟท์ 1 ตัว สำหรับพนักงานเพื่อใช้ในการขนหนังสือ การเปิด-ปิด ลิฟท์ เจ้าหน้าที่ส่วนอาคารสถานที่จะเป็นผู้เปิด-ปิด ให้ตามเวลาทำการของห้องสมุด ในส่วนลักษณะทางกายภาพของอาคารศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาทางด้านตะวันตกและตะวันออก สามารถมองเห็นทัศนียภาพที่สวยงาม ประกอบกับบริเวณรอบอาคารได้มีการปลูกต้นไม้ประเภทยืนต้นที่ให้ความร่มรื่นและสบายตากับผู้ใช้ที่มาอ่านหนังสือหรือค้นคว้า ทั้งนี้ ในปีพ.ศ. 2560 ได้มีการจัดหาเก้าอี้สนาม (แบบนอกร่ม) เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำกิจกรรมหรือนั่งเล่นบริเวณลานใต้ห้องสมุด มีการเพิ่มจุดพื้นที่สีเขียว ได้แก่การปรับแต่งสวนหย่อมบริเวณหน้าห้องสมุดที่เป็นโซนสบาย (Living & Learning Zone)  ลานใต้ตึกอาคารศูนย์บรรณสารฯ และตามจุดพื้นที่ให้บริการห้องสมุด เพื่อให้เกิดความสบายตาและผ่อนคลายกับผู้ใช้บริการที่มานั่งอ่านหนังสือ นอกจากนี้ในปีพ.ศ. 2561 ได้รับงบประมาณจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน โดยการประสานงานของส่วนอาคารสถานที่ เพื่อปรับเปลี่ยนหลอดไฟจากเดิมเป็นหลอด T5 ปรับเป็นหลอด LED เพื่อการประหยัดพลังงานและประสิทธิภาพที่ดีกว่า มีการติดไฟแบบเชือกกระตุกตามพื้นที่สำนักงานและพื้นที่ให้บริการ นอกจากนี้เมื่อเดือนมิถุนายน 2561 ได้รับการแยกมิเตอร์ไฟฟ้า และติดตั้งเครื่องกำเนิดโอโซน สำหรับคูลลิ่งทาวเวอร์ เพื่อฆ่าเชื้อโรคและปรับสภาพน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดการกัดกร่อนและตะกรันในระบบ และทำให้การทำความเย็นของเครื่องทำน้ำเย็นดีอยู่ตลอดเวลา และได้เปลี่ยนเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนในพื้นที่สำนักงานและพื้นที่ให้บริการให้เป็นเครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงาน ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2563 ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มีแผนเสนอขอมหาวิทยาลัยติดตั้งฟิล์มรอบอาคารโดยเริ่มจากด้านทิศตะวันตกและตะวันออกที่ผู้ใช้บริการสามารถมองเห็นทัศนียภาพที่สวยงามรอบตึกได้

นอกจากนี้ในส่วนของการดูแลแสงสว่างที่เข้ามาในห้องสมุดได้จัดวางชั้นหนังสือในแต่ละคอลเล็คชั่นที่ไม่เป็นการบังแสงที่เข้ามาจนเกินไป อีกทั้งได้มีการอบรมแม่บ้านและรปภ. ในการเปิด-ปิด มูลี่ในแต่ละช่วงเวลาของวัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาหนังสือ ครุภัณฑ์ และเพื่อลดการใช้แสงสว่างจากหลอดไฟฟ้า

รายละเอียดตามข้อกำหนดของการประเมิน ในกรณีที่เป็นอาคารเก่า

1. มีการศึกษาปัญหาและสภาพอาคารเดิมที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม

     การดำเนินงาน จากการศึกษาปัญหาและสภาพอาคารเดิมของศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา พบว่า ศูนย์บรรณสารฯ มีสภาพของอาคารที่เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม อาทิ ระบบเครื่องปรับอากาศของศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาที่เป็นแบบระบบแอร์รวม ทำให้ควบคุมอุณหภูมิในบริเวณต่างๆ ของห้องสมุดได้ยาก และการใช้ระบบไฟฟ้าแบบแผง (Section) ทำให้เกิดการสูญเสียไฟฟ้าในจุดที่ไม่มีเจ้าหน้าที่หรือผู้ใช้บริการอยู่ และความต้องการมองเห็นทัศนียภาพโดยรอบของผู้ใช้บริการเมื่อมาค้นคว้าหรืออ่านหนังสือในห้องสมุด ตลอดจนแสงสว่างในบางพื้นที่ อาทิ ลานกิจกรรม ชั้น 2 ในช่วงสอบ จะมีนักศึกษามาติวหรือทำงานกลุ่ม ที่พบว่ามีแสงสว่างไม่เพียงพอ หรือการขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยช่วยกันประหยัดไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อน เป็นต้น

2. มีแผนงานและมาตรการการปรับปรุงโครงสร้างสถาปัตยกรรมหรือวัสดุประกอบอาคาร
ให้เอื้อต่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม

       2.1 มีการปรับปรุงโครงสร้างอาคารและวัสดุประกอบอาคารให้เอื้อต่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม

     การดำเนินงาน ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษามีแผนงานปรับปรุงวัสดุประกอบอาคารให้เอื้อต่อการอนุรักษ์พลังงาน โดยได้วางแผนในปีงบประมาณ 2563 ที่จะติดฟิล์มบริเวณรอบอาคาร โดยเริ่มจากทิศตะวันออกและตะวันตก เพื่อช่วยลดความร้อน และเพื่อให้เครื่องปรับอากาศทำงานน้อยลง ประกอบกับเพื่อเพิ่มการมองเห็นทัศนียภาพของผู้ใช้บริการที่มาค้นคว้าหรืออ่านหนังสือในห้องสมุด

     2.2 มีการปรับปรุงระบบปรับอากาศให้มีประสิทธิภาพ

     การดำเนินงาน ด้วยระบบเครื่องปรับอากาศของศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาเป็นแบบรวมศูนย์ การเปิด-ปิด ต้องใช้เจ้าหน้าที่ด้านช่างจากส่วนอาคารสถานที่ ประกอบกับด้วยความเป็นระบบเครื่องปรับอากาศแบบรวมศูนย์ จะมีปัญหาในการดูแลรักษาและค่าใช้จ่ายที่สูง ในปี 2561 ส่วนอาคารสถานที่จึงติดตั้งเครื่องกำเนิดโอโซน สำหรับคูลลิ่งทาวเวอร์เพื่อประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคและปรับสภาพน้ำ นอกจากนี้ในส่วนของสำนักงานและพื้นที่ให้บริการบางจุดได้มีการเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนให้เป็นแบบและรุ่นที่ประหยัดพลังงานไฟฟ้า นอกจากนี้ศูนย์บรรรณสารและสื่อการศึกษาตระหนักถึงสภาพภูมิอากาศทางเชียงราย ที่ในช่วงฤดูหนาวการเปิดเครื่องปรับอากาศสามารถที่จะขยายเวลาเปิดให้สายขึ้น เพื่อการประหยัดพลังงาน จากเวลาปกติวันจันทร์ – ศุกร์ในช่วงฤดูร้อน ที่เปิดเครื่องปรับอากาศ ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เปลี่ยนเวลาเปิดเป็น 10.30 น. เป็นต้นไป และเสาร์-อาทิตย์ จากเดิมเวลา 10.00 น. เปลี่ยนเวลาเปิดเป็น 11.00 น.

     2.3 มีการปรับปรุงระบบไฟฟ้าแสงสว่างที่ประหยัดพลังงาน

     การดำเนินงาน ระบบไฟฟ้าของอาคารศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา เป็นไฟฟ้าแบบแผง (Section) ทำให้เกิดการสูญเสียไฟฟ้าในจุดที่ไม่มีเจ้าหน้าที่หรือผู้ใช้บริการอยู่ ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาจึงได้ประสานส่วนอาคารสถานที่เพื่อขอเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าจากเดิมเป็นหลอดแบบ T5 เป็นหลอด LED และได้มีการติดตั้งไฟกระตุกในพื้นที่สำนักงานและพื้นที่ให้บริการบางจุด เพื่อเป็นการประหยัดพลังงาน มีการจัดทำผังและสติ๊กเกอร์การเปิด-ปิดไฟ ในแต่ละชั้นตามช่วงเวลาและสภาพอากาศ และมีการให้ความรู้แก่แม่บ้านและรปภ.ในการเปิด-ปิดไฟ ในแต่ละจุด นอกจากนี้ในปีพ.ศ. 2561 ได้มีการแยกมิเตอร์ไฟฟ้าจากเดิมที่เป็นมิเตอร์รวมอาคารศูนย์บรรณสารฯ และอาคารบริการวิจัย มาเป็นเฉพาะมิเตอร์ของอาคารศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา เพื่อให้สามารถวัดประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าของอาคารศูนย์บรรณสารฯ ได้อย่างแท้จริง

     2.4 มีการปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยเลือกปลูกพืชที่ร่มรื่น สวยงาม และพืชที่ช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก

     การดำเนินงาน ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาได้เพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยการปรับแต่งสวนหย่อมบริเวณหน้าห้องสมุดที่เป็นโซนสบาย (Living & Learning Zone)  และลานใต้ตึกอาคารศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา โดยจัดหาไม้ประดับที่มีความสวยงาม เหมาะกับการปลูกในร่ม และได้จัดหาไม้ประดับที่สามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกและช่วยลดมลภาวะและโลกร้อนมาประดับพร้อมคำอธิบาย (Description) ในพื้นที่ให้บริการและตามจุดต่างๆ ภายในสำนักงาน  อีกทั้งได้ร่วมกับนักศึกษา แม่บ้าน รปภ. และส่วนอาคารสถานที่ร่วมกันปลูกต้นเหลืองอินเดียบริเวณทางเข้าอาคารศูนย์บรรณสารฯ ในกิจกรรม MFU LIBRARY LOVES THE EARTH วันสิ่งแวดล้อมโลก