การดำเนินงานในหมวดที่ 8

หมวดที่ 8
การประเมินคุณภาพห้องสมุดสีเขียว

banner-oper8

เกณฑ์การดำเนินงาน

     ผู้บริหารห้องสมุด ต้องกำหนดตัวชี้วัดการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยติดตามและประเมินผลเป็นประจำทุกปี

ผลการดำเนินงาน

     ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาได้ดำเนินการพัฒนาห้องสมุดสีเขียวตามแผนงานที่กำหนด  โดยมีบุคลากร เจ้าหน้าที่ฝ่ายงานต่างๆ ของศูนย์บรรณสารฯ เป็นผู้ขับเคลื่อน โดยมีการติดตาม  และรายงานผลการดำเนินงาน เพื่อนำมาปรับตัวชี้วัดในปีถัดไป

1. มีการประเมินประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เหมาะสม เช่น Energy Utilization Index (EUI)

     การดำเนินงาน ในส่วนของการประเมินประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เหมาะสม (EUI) นั้น เนื่องจากศูนย์บรรณสารฯ (AV) ใช้มิเตอร์รวมกับอาคารศูนย์บริการวิชาการและวิจัย (AS) ที่เป็นตึกใกล้กับอาคารศูนย์บรรณสารฯ ทำให้ไม่สามารถวัดค่าประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าได้แท้จริง ส่งผลให้การรายงานผลงานการดำเนินงานประจำปีเครือข่ายห้องสมุดสีเขียวไม่สามารถรายงานข้อมูล EUI ที่ถูกต้องได้ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 ศูนย์บรรณสารฯ ได้ทำเรื่องแจ้งส่วนอาคารและสถานที่ เพื่อขอความอนุเคราะห์ติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าแบบแยกให้อาคารศูนย์บรรณสารฯ โดยเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2561 ส่วนอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้ทำการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าแบบแยกให้อาคารศูนย์บรรณสารฯ โดยแยกเป็นมิเตอร์ตามชั้น (ชั้น 2-5 เนื่องจากชั้น 1 เป็นที่จอดรถ) ดังนั้น ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2561 เป็นต้นมา ทำให้ศูนย์บรรณสารฯ ทราบค่าการใช้ไฟฟ้าที่แท้จริง  โดยได้เริ่มนำข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของเดือนที่มีการแยกมิเตอร์ มาคำนวณค่าประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า (EUI) พบว่า ในเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา มีค่าประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า (EUI) เท่ากับ 1.78 และ 2.74 ตามลำดับ ทั้งนี้จะจัดเก็บและบันทึกข้อมูลให้สมบูรณ์ในปีถัดไป

2. มีการประเมินประสิทธิภาพการจัดการขยะ เช่น ปริมาณขยะลดลง และร้อยละของปริมาณขยะที่นำมา Reuse, Recycle เพิ่มขึ้น

     การดำเนินงาน ในส่วนของการกำจัดขยะ ศูนย์บรรณสารฯ เริ่มดำเนินการ บันทึกการเก็บข้อมูล ปริมาณการใช้ขยะ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 โดยกำหนดให้แม่บ้านที่รับผิดชอบดูแลแต่ละชั้น ภายในอาคารศูนย์บรรณสารฯ จัดเก็บขยะที่จะต้องส่งกำจัด ขยะที่ส่งจำหน่าย (ในที่นี้ หมายถึงหนังสือพิมพ์ล่วงเวลาที่จัดทำกฤตภาคเรียบร้อยแล้ว) และขยะประเภทรีไซเคิลที่สามารถนำมาใช้ใหม่ โดยกำหนดให้แม่บ้านนำมาชั่งน้ำหนัก และบันทึกลงสมุดควบคุม ทั้งนี้พบว่า

  • ปริมาณขยะเมื่อเทียบเคียงกับช่วงเวลาเดือนที่จัดเก็บเดียวกัน ม.ค. – พ.ค. ปี 2560 และ 2561 พบว่า ปี 2560 มีการส่งขยะกำจัด 3,088.20 กิโลกรัม ในขณะที่ปี 2561 มีการกำจัดขยะในช่วงเวลาเดียวกัน 2,955.80 กิโลกรัม ลดลง 132.40 กิโลกรัม
  • ปริมาณขยะที่ส่งจำหน่าย มีเพียงปี 2560 จำนวน 1,359 กิโลกรัม ทั้งนี้ในปี 2561 กำหนดจำหน่ายในเดือนธันวาคม 2561 ดังนั้นจึงยังไม่มีผลการจำหน่ายขยะว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลง
  • ปริมาณขยะที่นำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) พบว่าในช่วงเวลาเดียวกันในปี 2560 มีขยะที่นำกลับมาใช้ใหม่ จำนวน 19.70 กิโลกรัม แต่ในปี 2561 มีขยะนำกลับมาใช้ใหม่ 59 กิโลกรัม ดังนั้นในปี 2561 มีขยะประเภทนำกลับมาใช้ใหม่เพิ่มขึ้น จำนวน 39.3 กิโลกรัม

3. มีการประเมินประสิทธิภาพการจัดการน้ำเสีย

     การดำเนินงาน ในการจัดการน้ำเสีย ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาได้มีการติดตั้งถังดักไขมันที่ห้องรับประทานอาหารของพนักงาน เพื่อดักไขมันที่ชำระล้างจากภาชนะเศษอาหาร เพื่อไม่ให้ทำให้เกิดน้ำเน่าเสียและท่อน้ำอุดตัน ทั้งนี้ทุกสัปดาห์จะมีแม่บ้านตักไขมันและทำความสะอาดถังเป็นประจำ ทั้งนี้บ่อดักไขมันของมหาวิทยาลัยจะมีทั้งหมด 30 บ่อ ในส่วนของอาคารศูนย์บรรณสารฯ จะถูกลำเลียงไปที่บ่อดักไขมันอาคารโรงอาหาร D1 ที่อยู่บริเวณใกล้กับอาคารศูนย์บรรณสารฯ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยได้กำหนดให้บริษัทจ้างเหมาต้องมีการทำความสะอาดบ่อดักไขมันอย่างน้อย 4 ครั้ง หรือมากกว่า (ต่อปี) โดยส่วนอาคารสถานที่มีการตรวจสอบและดำเนินการควบคุมอย่างเคร่งครัด

4. มีการประเมินประสิทธิภาพการจัดการมลพิษทางอากาศ

     การดำเนินงาน ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา ได้ทำการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทั้งภายในและภายนอกอาคาร โดยขอความอนุเคราะห์จากส่วนอาคารและสถานที่ มหาวิทยาลัย ช่วยดำเนินการจัดส่วนหย่อม ตกแต่งภูมิทัศน์ เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดี เพิ่มกระถางไม้ดอกไม้ประดับที่สามารถลดมลพิษตามจุดต่างๆ และมีการบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศเป็นประจำทุกสองเดือน โดยบริษัทจ้างเหมาโดยส่วนอาคารสถานที่เป็นผู้ประสานงาน ควบคุมและตรวจสอบ นอกจากนี้ศูนย์บรรณสารฯ ยังให้ผู้ใช้บริการมีส่วนร่วมในการให้ข้อเสนอแนะ หรือร้องเรียนทางระบบออนไลน์ และระบบประเมินความคิดเห็นเกี่ยวกับการให้บริการ สิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนสภาพอากาศผ่านช่องทางออนไลน์ และสภาพแวดล้อม ทั้งนี้ส่วนใหญ่จะเป็นข้อเสนอแนะ อาทิ อากาศร้อนอยากให้ห้องสมุดเปิดเครื่องปรับอากาศเร็วขั้น หรืออากาศเย็นมาก (ช่วงฝนตก) อยากได้หมอนและผ้าห่ม เป็นต้น

5. มีการประเมินประสิทธิภาพการจัดการก๊าซเรือนกระจก

     การดำเนินงาน ในส่วนของการจัดการก๊าซเรือนกระจก และคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ศูนย์บรรณสารฯ ได้เชิญวิทยากรจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ คุณเพชรประกายแก้ว ดวงฤทัยทิพย์ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2561 มาให้ความรู้ และข้อมูลเกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจก และวิธีการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ทั้งระดับบุคคลและองค์กร เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในการเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการคำนวณต่อไป  

     สำหรับการคำนวณค่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ในเบื้องต้น ซึ่งวัดผลจากกิจกรรมการให้บริการของศูนย์    บรรณสารฯ จากการใช้พลังงานทั้งทางตรงและทางอ้อม หลังจากการแยกมิเตอร์ไฟฟ้า ศูนย์บรรณสารฯ  จึงสามารถบันทึกข้อมูลได้บางรายการเท่านั้น พบว่า ในระหว่างเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม 2561 มีค่าก๊าซเรือนกระจก (GHG) ประเภทที่ 1 การปล่อยและการดูดกลับทางตรง เท่ากับ  2.12 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) ประเภทที่ 2 การปล่อยและการดูดกลับจากการใช้พลังงาน เท่ากับ  18.88 tCO2e และประเภทที่ 3 การปล่อยและการดูดกลับทางอ้อมอื่นๆ เท่ากับ  0.38 tCO2e ตามลำดับ ทั้งนี้ศูนย์บรรณสารฯ จะนำค่าไฟฟ้าที่ได้รับการแยกมิเตอร์ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561  ไปใช้ในการคำนวณค่า EUI และจะรวบรวมข้อมูลการการปล่อยและการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกประเภทต่างๆ ของศูนย์ที่เป็นตัวเลขที่แท้จริง  เพื่อใช้ในการคำนวณค่าก๊าซเรือนกระจก (GHG) ให้ถูกต้องในปีถัดไป

     นอกจากนี้ศูนย์บรรณสารฯ ยังได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดระบบและบริหารงานภายในศูนย์บรรณสารฯ ในคราประชุมเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2561 ว่าในส่วนยุทธศาสตร์ที่ 4 : การพัฒนาและปรับปรุงสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้เอื้อต่อการค้นคว้าและพฤติกรรมการใช้ห้องสมุด ข้อ 4.2 โครงการพัฒนาห้องสมุดสีเขียว  (Green Library) ในปี 2562  มีมติเห็นชอบให้ศูนย์บรรณสารฯ เพิ่มเติมในส่วนของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับคาร์บอนฟุตพริ้นท์และการชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจก และให้ศูนย์บรรณสารฯ ดำเนินการเพิ่มเติมในส่วนของการดำเนินงานให้เป็นไปตามเกณฑ์สำนักงานสีเขียว Green Office  และเสนอแนะให้ศูนย์บรรณสารฯ พิจารณาเข้าร่วมโครงการ Care de Bear ของตลาดหลักทรัพย์ด้วยเพื่อเป็นการพัฒนาและขยายผลด้านห้องสมุดสีเขียวต่อไป

6. มีประเมินผลสัมฤทธิ์การจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม

     การดำเนินงาน ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาได้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยเชิญวิทยากรคุณเพชรประกายแก้ว ดวงฤทัยทิพย์  จากสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มาเป็นวิทยากรอบรมเชิงปฏิบัติการ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง “แนวปฏิบัติที่ดีของห้องสมุดสีเขียวในการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม” ให้แก่บุคลากรของศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา และหน่วยงานของมหาวิทยาลัยที่สนใจ ทั้งนี้ศูนย์บรรณสารฯ ได้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์การจัดกิจกรรมดังกล่าว แต่เนื่องด้วยระยะเวลาที่จำกัด การวัดผลสัมฤทธิ์เป็นเพียงการเก็บแบบประเมินความพึงพอใจของการเข้าร่วมกิจกรรม โดยมีผลการประเมินดังนี้ ก่อนเข้าอบรมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผู้เข้าร่วมอบรมมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับห้องสมุดสีเขียว ระดับน้อย (ค่าเฉลี่ยที่ 3.50) และหลังการอบรมผู้เข้าร่วมอบรมมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับห้องสมุดสีเขียวเพิ่มขึ้นในระดับมาก (ค่าเฉลี่ยที่ 4.27) และผู้เข้าอบรมได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมอบรมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ระดับมาก (ค่าเฉลี่ยที่ 4.31) ซึ่งเท่ากันกับความพึงพอใจในการถ่ายทอดของวิทยากร และมีความพึงพอใจในภาพรวมของการอบรมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ยที่ 4.34)