การดำเนินงานในหมวดที่ 4

หมวดที่ 4
การจัดการของเสียและมลพิษ

banner-oper4

เกณฑ์การดำเนินงาน

     ห้องสมุดมีการจัดการของเสียและมลพิษอย่างมีประสิทธิภาพ

ผลการดำเนินงาน

1. มีการกำหนดแผนงานและมาตรการการจัดการขยะอย่างเหมาะสม

  • ลดปริมาณขยะ (reduce) การใช้ซ้ำ (reuse) การนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle)
  • ตรวจสอบความถูกต้องในการคัดแยกขยะและบันทึกปริมาณขยะ
  • มีพื้นที่รวบรวมขยะก่อนส่งกำจัดและการส่งกำจัดขยะแต่ละประเภท

     การดำเนินงาน ในด้านการจัดการขยะ ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษามีแผนงานและมาตรการการจัดการขยะ โดยได้จัดหาถังขยะประเภททั่วไป ถังขยะประเภทรีไซเคิล ไว้ให้บริการตามจุดพื้นที่ต่างๆ ในอาคารศูนย์บรรณสารฯ ทั้งนี้ในบางพื้นที่ได้มีการจัดหาถังขยะประเภทอันตราย และขยะชีวภาพ เพื่อให้พนักงานและนักศึกษาได้ทิ้งขยะตามถังที่แยกประเภทไว้ โดยมีแม่บ้านของอาคารศูนย์บรรณสารฯ รวบรวมและนำส่งต่อให้ส่วนอาคารสถานที่ของมหาวิทยาลัยในการรับขยะแต่ละประเภทต่อไป ทั้งนี้ในส่วนของขยะรีไซเคิล จะมีแม่บ้านนำมาชั่ง บันทึก และแยกรวมไว้ที่จุดส่วนกลาง โดยจะมีส่วนอาคารสถานที่นำไปจำหน่าย เป็นรายได้ของมหาวิทยาลัยต่อไป นอกจากนี้ศูนย์บรรณสารฯ ยังมีการคัดแยกขยะประเภทหนังสือพิมพ์เก่าย้อนหลัง 1 ปี ที่งานจดหมายเหตุได้คัดแยกทำกฤตภาคข้อมูลสำคัญแล้ว โดยส่วนอาคารสถานที่ของมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้ดำเนินการ และนำรายได้ส่งมหาวิทยาลัยต่อไป

     ทั้งนี้จากตารางการบันทึกขยะของแม่บ้าน พบว่า ในปี 2561 ในส่วนของการส่งขยะกำจัด มีการลดลง 51.6 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2560 และขยะนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) ได้มีการลดลง 46.9 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2560 ในส่วนของขยะที่ส่งจำหน่ายนั้นยังไม่สามารถเทียบเคียงได้ว่ามีการเพิ่มขึ้นหรือลดลง เนื่องจากในปี 2561 งานจดหมายเหตุอยู่ในระหว่างการจัดทำกฤตภาคข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ ทั้งนี้จะมีการรวบรวมหนังสือพิมพ์ที่จัดทำกฤตภาคแล้วส่งจำหน่ายในเดือนธันวาคม 2561 

2. มีการกำหนดแผนงานและมาตรการจัดการน้ำเสีย

  • ลดปริมาณการใช้น้ำหรือใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
  • เลือกใช้น้ำยาทำความสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • มีการบำบัดน้ำเสียอย่างเหมาะสม

     การดำเนินงาน ในด้านการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาได้มีการกำหนด แผนงานและมาตราการการใช้น้ำและการจัดการน้ำเสีย โดยทำการตรวจสอบก๊อกน้ำและปริมาณการใช้น้ำตามจุดต่างๆ เนื่องจากก๊อกน้ำที่ใช้ยังเป็นก๊อกน้ำแบบเดิม (ปุ่มกด PUSH) ซึ่งมีระดับแรงดันน้ำออกมามาก ทำให้เกิดการสูญเสียน้ำมากกว่าหัวก๊อกแบบปัจจุบัน โดยในปีงบประมาณ 2562-2563 จะประสานส่วนอาคารสถานที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อขอปรับเปลี่ยนหัวก๊อกน้ำให้เป็นหัวก๊อกแบบประหยัดน้ำแทน ทั้งนี้ในส่วนของหัวก๊อกเดิมที่ยังคงต้องใช้งาน ได้ขอความอนุเคราะห์ช่างจากส่วนอาคารสถานที่ทำการปรับแรงดันน้ำให้มีความเหมาะสม โดยคำนึงถึงการประหยัดน้ำมากที่สุด พร้อมทั้งมีการจัดทำป้าย/ข้อความ รณรงค์ ติดตามห้องน้ำในชั้นต่างๆ เพื่อให้บุคลากรและนักศึกษามีส่วนร่วมในการประหยัดน้ำ

     นอกจากนี้ในส่วนของการใช้น้ำยาทั้งในส่วนของน้ำยาทำความสะอาดพื้นและห้องน้ำ ได้มีการกำหนดไว้ใน TOR ว่าบริษัทรักษาความสะอาด (Outsource) ต้องจัดหาอุปกรณ์และน้ำยาทำความสะอาดที่ไม่เสื่อมคุณภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการรับรองขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย และได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม และมีฉลากสิ่งแวดล้อมกำกับ โดยการปฎิบัติงานจะมีพนักงานของศูนย์บรรณสารฯ ช่วยควบคุมและรายงานส่วนกลาง (ส่วนอาคารสถานที่) นอกจากนี้ในส่วนของการใช้น้ำยาล้างภาชนะในห้องทานอาหารของพนักงาน จะเลือกใช้น้ำยาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น

     ในด้านการบำบัดน้ำเสีย ศูนยบรรณสารและสื่อการศึกษาได้จัดหาถังขยะสำหรับทิ้งเศษอาหาร ผัก เปลือกผลไม้ จำแนกไว้ไม่ให้ปนกับขยะทั่วไป ทั้งนี้ใน TOR ของบริษัททำความสะอาดได้กำหนดให้แม่บ้านนำไปทิ้งทุกๆ วัน ณ บริเวณจุดโรงอาหาร อาคาร D1 ใกล้ๆ กับอาคารศูนย์บรรณสารฯ  เพื่อให้คนงานนำไปเป็นอาหารสัตว์ต่อไป นอกจากนี้ในส่วนของการชำระล้างภาชนะในห้องทานอาหารจะมีตะแกรงกรองเศษอาหารที่ชำระล้าง พร้อมทั้งมีการติดตั้งถังดักจับไขมัน โดยจะมีแม่บ้านช้อนเอาไขมันที่ลอยขึ้นมา นำใส่ถุงดำและนำไปทิ้งในจุดพักขยะใกล้กับโรงอาหาร D1

3. มีการกำหนดแผนงานและมาตรการการจัดการมลพิษทางอากาศอย่างเหมาะสม

  • มีการจัดการสิ่งเจือปนในอากาศ เช่น ฝุ่นละออง ไรฝุ่น เชื้อรา แบคทีเรีย ฯลฯ
  • มีการจัดการสภาพอากาศที่ดี อากาศถ่ายเทสะดวก
  • มีการจัดการเพื่อควบคุมเสียง

     การดำเนินงาน ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาตระหนักถึงการจัดการมลพิษทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละออง ไรฝุ่น ฯลฯ  ทั้งนี้ ในส่วนของ TOR ของบริษัทแม่บ้านทำความสะอาดได้มีข้อกำหนดของการทำความสะอาดฝุ่นละออง ไรฝุ่น ของวัสดุ ครุภัณฑ์ เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องใช้ไฟฟ้า ตลอดจนการปัดหยากไย่ บริเวณผนัง เพดาน และการดูดฝุ่นพรม ตามแต่ละชั้นของอาคารศูนย์บรรณสารฯ โดยกำหนดเป็นเกณฑ์ในการทำความสะอาดประจำสัปดาห์ และประจำเดือนของบริษัททำความสะอาด โดยมีเจ้าหน้าที่ของศูนย์บรรณสารฯ เป็นผู้ควบคุมงาน นอกจากนี้ได้มีการติดป้าย/สัญลักษณ์ “ห้ามสูบบุหรี่” ติดตามจุดในพื้นที่ของอาคารศูนย์บรรณสารฯ ที่ไม่อนุญาตให้ผู้ใช้บริการหรือประชาชนทั่วไปสูบบุหรี่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ห้องสมุดในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งควันบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของการรบกวนผู้ใช้บริการท่านอื่นๆ

     นอกจากความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสถานที่แล้ว ศูนย์บรรณสารฯ ยังให้ความสำคัญกับการจัดการสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศ ภายในศูนย์บรรณสารฯ ให้ปลอดโปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก โดยใช้องค์ประกอบของการจัดวางและคุมโทนสีของเฟอร์นิเจอร์ ครุภัณฑ์ และป้ายต่างๆ ภายในอาคารของศูนย์บรรณสารฯ เพื่อให้ผู้ใช้รู้สึกปลอดโปร่ง โล่ง สบาย ไม่อึดอัด

     ในส่วนของการจัดการเพื่อควบคุมเสียง ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่มีการปรับปรุงลักษณะทางกายภาพของห้องสมุด หรือมีกิจกรรมอื่นๆ อันเกิดจากการใช้เสียง ซึ่งทำให้เกิดการรบกวนผู้ใช้บริการ ทางศูนย์บรรณสารฯ จะประกาศแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบล่วงหน้าตามช่องทางต่างๆ เนื่องจากการปฎิบัติงานหรือกิจกรรมดังกล่าว อาจก่อให้เกิดการรบกวนผู้ที่เข้ามาใช้บริการห้องสมุด นอกจากนี้หากในช่วงสอบที่มีนักศึกษาใช้บริการจำนวนมาก และมีเสียงดังรบกวนผู้ใช้บริการคนอื่นๆ จะใช้เสียงตามสาย ประกาศแจ้งเตือนผู้ใช้บริการเป็นระยะ

4. มีการกำหนดแผนงานและการดำเนินกิจกรรม 5ส อย่างสม่ำเสมอ เพื่อจัดการพื้นที่บริการและพื้นที่สำนักงานให้สะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย

     การดำเนินงาน ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาได้ใช้กิจกรรม 5ส ในการสร้างระเบียบวินัย สร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสถานที่ทำงาน ทำให้พนักงานตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและมีคุณค่า รวมไปถึงการสร้างความสามัคคีในการทำงาน ดังนั้นจึงกำหนดแผนงานและมาตรการการดำเนินกิจกรรม 5ส อย่างต่อเนื่อง

5. มีการกำหนดแผนงานและมาตรการเตรียมความพร้อมและตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน

  • มีการวางแผนการจัดการในการป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อม ระงับเหตุฉุกเฉิน เช่น อัคคีภัย อุทกภัย เป็นต้น
  • มีการปรับปรุงแผนตามรอบระยะเวลาที่เหมาะสมและตามกฎหมายที่กำหนด
  • มีการดูแลอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ระงับเหตุฉุกเฉิน

     การดำเนินงาน ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาได้ตระหนักถึงภัยของเหตุฉุกเฉิน ซึ่งถ้าเกิดขึ้นอาจทำความสูญเสียทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจของพนักงาน และทรัพย์สินของนักศึกษาและผู้ใช้บริการ ตลอดจนภาพลักษณ์ขององค์กร ดังนั้น จึงมีการกำหนดแผนงานและมาตรการเตรียมความพร้อมและตอบสนองต่อภาวะเหตุฉุกเฉิน โดยนำการป้องกันอัคคีภัย ให้อยู่ในแผนงานควบคุมภายในและบริหารความเสี่ยงของหน่วยงานที่เสนอต่อมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดอบรมป้องกันอัคคีภัย และการซักซ้อมอพยพหนีไฟ และประสานส่วนอาคารสถานที่เข้าตรวจสอบการทำงานของอุปกรณ์ เครื่องมือ ระบบป้องกันอัคคีภัยอย่างสม่ำเสมอ